หนังตะลุงเสน่ห์ในตอนใต้ของไทย

หากเรากล่าวศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นของภาคใต้  มีเอกลักษณ์ที่ใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น  มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ  คุณรู้ใช่ไหมว่าเรากำลังพูดถึงอะไร  แน่นอนสิ่งนี้คือ “หนังตะลุง” การละเล่นที่สะท้อนศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณีของคนพื้นถิ่นใต้ได้อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว

มหรสพการแสดงเงาเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่มีในหลายชนชาติเป็นที่นิยมกันมากในแถวเอเชียอาคเนย์   หากแต่”หนังตะลุง” ของแดนใต้มีความเฉพาะตัว สันนิษฐานว่า เดิมเรียกว่า”หนังพัทลุง” ตามคำเรียกของคนภาคกลาง ที่พุดถึงการแสดงเงาประเภทนี้ที่ได้ไปสู่สายตาของคนนอกภูมิภาคครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง  ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น “หนังตะลุง”

หนังตะลุงเสน่ห์ในตอนใต้ของไทย

ความลงตัวที่ผสานออกมาเป็นการแสดงเงา ที่เรียกว่า “หนังตะลุง” นั้นมีทั้งมิติของแสง  สี  เสียง ท่วมทำนอง เสียงดนตรี ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง   การแสดงท่าทางของหนังตะลุงภายใต้แสงไฟ เมื่อเงาหุ่นโยกย้ายไปตามท่วงทำนอง สามารถขยับปาก ชี้นิ้ว คล้ายคนเจรจาพาที ผสานเข้ากับเสียงพากย์สำเนียงถิ่นใต้ ทั้งหมดนี้คือมนต์เสน่ห์ที่ตรึงผู้ชมไว้อย่างอยู่หมัด ทุกครั้งที่มีการแสดงหนังตะลุง ความสนุกสนาน ความรื่นรมที่ได้รับอรรถรสจากการดูหนังตะลุง การต่อล้อต่อเถียง ประชดประชัน นั้นสามารถเรียกเสียงหัวเราะ เรียกคราบน้ำตา รวมทั้งสร้างกำลังใจ และ เรียกจิตสำนึก ให้กับผู้ชมได้ในทุกๆครั้ง  ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ  “นายหนัง” ผู้มีบทบาทสำคัญในการแสดงหนังตะลุง ตั้งแต่การแกะหนังตะลุง การเชิด การพากย์เสียง การกำกับวงดนตรีและกำกับการแสดง

เสน่ห์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังตะลุง คือ ตัวตลกหนังตะลุงอย่าง อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย ที่สร้างสีสันให้การแสดงดึงดูดผู้คน มีรูปลักษณ์ชวนหัว ไม่ใส่เสื้อ บางตัวนุ่งโสร่งสั้นแค่เข่า บางตัวนุ่งกางเกง และส่วนใหญ่จะมีอาวุธประจำตัว ตัวตลกทุกตัวสามารถขยับมือขยับปากได้  ตัวตลกมีความผูกพันใกล้ชิดกับชาวใต้  พูดภาษาปักษ์ใต้ สามารถยกประเด็นหลากหลานขึ้นมาพูดอย่างมันเหตุการณ์บ้านเมือง ทั้ง ปัญหาสังคม ข้อคิดเตือนใจ เข้ามารวมถึงพูดล้อเลียนผู้ชมหน้าโรง  หากนายหนังตะลุงคนใดที่สามารถสร้างตัวตลกได้มีชีวิตชีวาอวดฝีปากการพากย์ของตนได้ยอดเยี่ยมจะได้รับการเล่าขานต่อได้ไม่รู้จบ หากสามารกใส่มุกตลก ยิ่งเป็นการแสดงไหวพริบปฏิภาณของนายหนัง

นอกเหนือจากท่วงท่าของหุ่นที่เห็นเป็นเงา ตัวหุ่นเองที่ทำจากหนัง ก็มีศิลปะแฝงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ช่างมากเสน่ห์ชวนให้ติดตาม หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 ชนิด คือ หนังวัวและหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน ต้องนำมาผ่านกระบวนการแกะฉลุและให้สีสัน ใส่กลไกให้สามารถบังคับการเคลื่อนไหวเพื่อตัวหนังแสดงอิริยาบถได้

หนังตะลุงไม่ได้เป็นเพียงภาพเงาแต่เป็นการเงาสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้ ด้วยความมีเสน่ห์นี้เองทำให้หนังตะลุงยังคงอยู่คู่แผ่นดินภาคใต้จนทุกวันนี้